การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อ (1) ศึกษาความคิดเห็นของผู้รับใบอนุญาตให้มีเลื่อยโซ่ยนต์ในท้องที่จังหวัดกระบี่ เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ในด้านการป้องกันรักษาป่า ด้านการมีส่วนร่วม และภูมิปัญญาชาวบ้านในด้านการป่าไม้ และ(2) เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การจัดทำแผนการป้องกันการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ให้เหมาะสมกับพื้นที่จังหวัดกระบี่ การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ ประชากรที่ใช้เป็นประชาชนผู้รับใบอนุญาตให้มี เลื่อยโซ่ยนต์ในท้องที่จังหวัดกระบี่ ที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติการครอบครองเลื่อยโซ่ยนต์แล้ว และเดินทางมารับใบอนุญาตให้มีเลื่อยโซ่ยนต์จากนายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์ ณ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่ จำนวน 2,250 ราย โดยมีกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม คือ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือวิจัย มีจำนวน 340 คน ที่ได้มาจากการสุ่มอย่างง่าย และกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ให้ข้อมูลเชิงลึก ใช้แบบสัมภาษณ์เป็นเครื่องมือวิจัย โดยการคัดเลือกประชาชนผู้รับใบอนุญาตให้มีเลื่อยโซ่ยนต์ ที่เป็นตัวแทนจากแต่ละอำเภอภายใน ท้องที่จังหวัดกระบี่ รวม 8 อำเภอๆ ละ 3 คน รวม 24 คน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัยพบว่า (1) ผู้รับใบอนุญาตให้มีเลื่อยโซ่ยนต์ในท้องที่จังหวัดกระบี่ มีความคิดเห็นที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับสูง ต่อการสร้างความเข้าใจในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ การจัดการ พื้นที่ป่า และกระบวนการมีส่วนร่วม และ(2) ความคิดเห็นของผู้รับใบอนุญาตให้มีเลื่อยโซ่ยนต์ สามารถนำมากำหนดเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ในการจัดทำ แผนการป้องกันการบุกรุกทำลายทรัพยากร ป่าไม้ที่เหมาะสมกับพื้นที่จังหวัดกระบี่ได้ 3 ยุทธศาสตร์ คือ 1) ยุทธศาสตร์การสร้างความเข้าใจ 2) ยุทธศาสตร์การจัดการพื้นที่ และ3) ยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วม