การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) จำแนกประเภทและภาษาของสิ่งพิมพ์การศึกษาทางไกล 2) จัดกลุ่มเนื้อหาสิ่งพิมพ์การศึกษาทางไกล และ 3) สำรวจการใช้สิ่งพิมพ์การศึกษาทางไกล ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือ ทรัพยากรสารสนเทศด้านการศึกษาทางไกลที่เป็นสิ่งตีพิมพ์จัดเก็บและให้บริการโดยหน่วยสนเทศการศึกษาทางไกล ฝ่ายบริการสนเทศ สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ครอบคลุมสิ่งพิมพ์ที่ตีพิมพ์ พ.ศ. 2521-2553 จำนวน 823 ชื่อเรื่อง ยกเว้นสิ่งตีพิมพ์ประเภทงานวิจัยภาษาไทย วารสาร และสำเนาบทความ วิเคราะห์เนื้อหาสิ่งพิมพ์การศึกษาทางไกล โดยใช้กรอบการจำแนกเนื้อหาการศึกษาทางไกลของศูนย์การเรียนทางไกลระดับสากล (International Centre for Distance Learning – ICDL) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ การแจกแจงความถี่ และร้อยละ
ผลการศึกษาพบว่า 1) ประเภทและภาษาของสิ่งพิมพ์การศึกษาทางไกล จำแนกได้ดังนี้ (1) ประเภทของสิ่งพิมพ์การศึกษาทางไกลเป็นประเภทหนังสือมากที่สุด จำนวน 440 ชื่อเรื่อง รองลงมาคือ วิทยานิพนธ์ จำนวน 208 ชื่อเรื่อง รายงานการประชุมสัมมนา จำนวน 123 ชื่อเรื่อง และน้อยที่สุดคือ งานวิจัย จำนวน 52 ชื่อเรื่อง และ (2) เป็นสิ่งพิมพ์ภาษาอังกฤษมากที่สุด จำนวน 557 ชื่อเรื่อง รองลงมาเป็นสิ่งพิมพ์ภาษาไทย จำนวน 266 ชื่อเรื่อง 2) การจัดกลุ่มเนื้อหาของสิ่งพิมพ์การศึกษาทางไกลตามหมวดของสิ่งพิมพ์ เป็นหมวดการศึกษาทางไกล (ทฤษฎี นโยบาย สังคมวิทยา การพัฒนา) มีมากที่สุด จำนวน 196 ชื่อเรื่อง รองลงมาคือ หมวดวัสดุการสอน (แหล่งทรัพยากร สื่อ) จำนวน 165 ชื่อเรื่อง และน้อยที่สุด คือ หมวดหลักสูตรและการพัฒนาหลักสูตร จำนวน 25 เรื่อง 3) การใช้สิ่งพิมพ์การศึกษาทางไกล สิ่งพิมพ์ทุกประเภทมีประวัติการยืมออก เมื่อจำแนกตามประเภทสิ่งพิมพ์ หนังสือภาษาไทยและรายงานการประชุมสัมมนา มีประวัติการยืมออกทุกชื่อเรื่อง สำหรับหนังสือภาษาอังกฤษ มีประวัติการยืมออก จำนวน 238 ชื่อเรื่อง และรายงานการประชุมสัมมนา ภาษาอังกฤษ มีประวัติการยืมออก จำนวน 70 ชื่อเรื่อง