การวิจัยแบบกึ่งทดลองชนิดกลุ่มเดียววัดผลสองครั้ง ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) พัฒนาความพร้อมของสถานที่ผลิตอาหารสำเร็จรูปพร้อมบริโภคทันทีในการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต (2) เปรียบเทียบการพัฒนาความพร้อมของสถานที่ผลิตอาหารสำเร็จรูปพร้อมบริโภคทันทีในการปฏิบัติตาม
หลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต ก่อนและหลังการเข้าร่วมโปรแกรมพัฒนาความพร้อม และ (3) ศึกษา
ปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตประชากร คือ สถานที่ผลิตอาหารสำเร็จรูปพร้อมบริโภคทันทีที่ได้รับอนุญาตผลิตขนมอบผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และสัตว์ทะเลสำเร็จรูป และขนมขบเคี้ยวในจังหวัดสมุทรสาครที่มีผลการประเมินสถานที่ผลิตอาหารทุกหมวดหรือแต่ละหมวดต่ำกว่าร้อยละ 70 และผู้ผลิตอาหารสมัครใจเข้าร่วมโปรแกรมพัฒนาความพร้อม จำนวน 60 แห่ง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย (1) โปรแกรมพัฒนาความพร้อม (2) แบบประเมินสถานที่ผลิตอาหารด้วยตนเองตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต และ (3) แบบวัดความรู้ สถิติในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติการทดสอบที การทดสอบ Wilcoxon และMann-Whitney U
ผลการวิจัย พบว่า (1) สถานที่ผลิตอาหารสำเร็จรูปพร้อมบริโภคทันทีมีการพัฒนาความพร้อมในการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตดีขึ้น (2) ก่อนและหลังการเข้าร่วมโปรแกรมพัฒนาความพร้อม ความรู้ของผู้ผลิตอาหารแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การประเมินผลการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตด้วยตนเองของผู้ผลิตอาหารไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การประเมินผลการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตของเจ้าหน้าที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และการประเมินผลการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตด้วยตนเองของผู้ผลิตอาหารกับเจ้าหน้าที่หลังเข้าร่วมโปรแกรมพัฒนาความพร้อมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และ (3) ปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต คือ สถานที่ผลิตอาหารขาดบุคลากรที่มีความเข้าใจในหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต