การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา (1) ระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น (2) ความแตกต่างระหว่างปัจจัยส่วนบุคคลกับการมีส่วนร่วม (3) ความสัมพันธ์ของปัจจัยจูงใจกับการมีส่วนร่วม (4) ความสัมพันธ์ของหลักธรรมาภิบาลกับการมีส่วนร่วม โดยประชากรที่ใช้ในศึกษาคือ ประชาชนทั่วไปและผู้นำชุมชนที่อาศัยอยู่ในเขตตำบลรอบเมือง จำนวน 15,958 คน กลุ่มตัวอย่าง 390 คนและผู้นำชุมชน 10 คน ทำการสุ่มแบบชั้นภูมิ เครื่องมือที่ใช้คือ แบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์ มีค่าความเชื่อถือได้ที่ระดับ 0.85 วิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและวิเคราะห์ความสัมพันธ์โดยการทดสอบ T-test (Independence Samples) F-test (One way ANOVA) และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน (Pearson’s correlation)
ผลการวิจัยพบว่า (1) ระดับการมีส่วนร่วมโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง ที่ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.29 และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.89 (2) ปัจจัยส่วนบุคคลที่แตกต่างกันมีความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมอย่างนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ยกเว้นปัจจัยด้านเพศ (3) ปัจจัยจูงใจมีความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 (4) หลักธรรมาภิบาลมีความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01