การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพปัญหาการใช้สื่อใหม่ของเด็กและเยาวชน ทั้งพฤติกรรมการใช้สื่อใหม่ทั้งที่เป็นฮาร์ดแวร์ (เช่น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต โน้ตบุ๊ก) และซอฟต์แวร์ (เช่น อินเทอร์เน็ต สื่อสังคม เกมส์ออนไลน์) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าถึงเนื้อหาที่มีลักษณะไม่เหมาะสมในสี่ประเด็นคือ เพศ ภาษา ความรุนแรง และการพนัน
วิธีดำเนินการวิจัยใช้การวิจัยแบบผสมผสานประกอบด้วย การวิจัยเชิงสำรวจเด็กและเยาวชนในเขตกรุงเทพมหานคร อายุระหว่าง 6-24 ปี จำนวน 633 คน โดยการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน และการสนทนากลุ่มผู้ปกครอง จำนวน 21 คน ด้วยการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณใช้สถิติพรรณนา ส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การพรรณนาวิเคราะห์
ผลการวิจัยพบว่า เด็กและเยาวชนเลือกใช้สมาร์ทโฟนมากที่สุดในการเข้าถึงสื่อใหม่ ใช้เวลากับสื่อเหล่านี้เฉลี่ย 4-6 ชั่วโมงต่อวัน และมีสัดส่วนเด็กและเยาวชนที่ใช้งานสื่อใหม่มากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวันเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้พบว่าสื่อสังคมอย่าง ยูทูป ได้รับความนิยมสูงในทุกกลุ่มอายุ เกมส์ออนไลน์เป็นที่นิยมสูงสุดในกลุ่มอายุน้อย (เด็กประถม) และเฟซบุ๊ก เป็นที่นิยมสูงสุดในกลุ่มอายุมากขึ้น ทุกๆ ช่วงวัยใช้งานสื่อใหม่โดยมีเป้าหมายเพื่อความบันเทิงเป็นหลัก รองมาคือสนทนากับเพื่อนและติดตามข้อมูลข่าวสาร ประเด็นที่น่าวิตกจากการผลการสำรวจพบว่าทุกๆ วัยส่วนใหญ่ระบุว่าสามารถเข้าถึงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมโดยเฉพาะเนื้อหาเรื่องเพศ (เช่น ภาพคลิปโป๊ คลิปฉาว) ได้โดยบังเอิญ ผลการสนทนากลุ่มกับผู้ปกครอง พบว่าปัญหาการใช้สื่อใหม่ของเด็กมัธยมแตกต่างจากเด็กประถม เพราะควบคุมการใช้สื่อใหม่ค่อนข้างยากกว่า เด็กบางรายมีอาการเสพติดสื่อใหม่อย่างรุนแรง โดยเฉพาะปัญหาการติดเกมส์ อีกปัญหาคือความรู้ไม่เท่าทันสื่อและเทคโนโลยีสมัยใหม่ของผู้ปกครองทำให้การดูแลป้องกันบุตรหลานเป็นไปได้ยาก