บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ 1) เพื่อศึกษาสภาพการจัดเรียนการสอนในรายวิชารัฐศาสตร์เบื้องต้นในประเด็นการเมืองและประชาธิปไตยในเชิงเปรียบเทียบ และ 2) เพื่อจัดรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบเชิงรุกในการยกระดับความรู้สู่ความเข้าใจการเมืองและประชาธิปไตยในเชิงเปรียบเทียบระหว่างประชาธิปไตยแบบไทยกับประชาธิปไตยแบบสากล โดยใช้การวิจัยแบบผสานวิธีทั้งเชิงคุณภาพโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกและการวิจัยเชิงปริมาณโดยแบบสอบถามกับนักศึกษารายวิชารัฐศาสตร์เบื้องต้นมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี ภาคการศึกษาที่ 1/2559 ดำเนินการวัดระดับความรู้ความเข้าใจผู้เรียนทั้งก่อนและภายหลังการจัดการเรียนการสอนแบบเชิงรุกใน 4 รูปแบบ คือ 1) การสอนแบบใช้ปัญหาเป็นฐาน 2) การสอนแบบมอบหมายการจัดทำรายงานค้นคว้าศึกษาในประเด็นทางด้านการเมืองและประชาธิปไตยเป็นรายกลุ่ม 3) กรณีศึกษาจากคลิปวิดีโอเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองและประชาธิปไตย และ 4) การระดมสมองและการเปิดอภิปรายในชั้นเรียนอย่างเปิดกว้างสร้างสรรค์
ผลการวิจัย พบว่า สภาพการจัดการเรียนการสอนแบบเชิงรุกทั้ง 4 รูปแบบต่างสนับสนุนส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดความรู้ความเข้าใจในความแตกต่างระหว่างประชาธิปไตยแบบไทยกับประชาธิปไตยแบบสากล โดยรูปแบบกรณีศึกษาจากคลิปวิดีโอเป็นรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบเชิงรุกที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการยกระดับความรู้ความเข้าใจ สะท้อนให้เห็นจากการที่ผู้เรียนเข้าใจถึงเส้นแบ่งระหว่างประชาธิปไตยทั้งสองแบบได้ดีซึ่งจำแนกความแตกต่างระหว่างประชาธิปไตยทั้งสองแบบด้วยแนวคิดเรื่องการรัฐประหารกับการเลือกตั้ง โดยมองว่าการทำรัฐประหารเป็นสิ่งเลวร้ายสำหรับประชาธิปไตยแบบสากลที่ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งในฐานะเงื่อนไขอันจำเป็น และเห็นว่าเพียงแค่มีการเลือกตั้งอย่างเดียวยังไม่ใช่เงื่อนไขที่เพียงพอสำหรับประชาธิปไตยแบบสากล ขณะที่ในมุมมองประชาธิปไตยแบบไทย การรัฐประหารกลับกลายเป็นสิ่งที่ยอมรับกันได้และกลายเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นของประชาธิปไตยแบบไทย