การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ (1) เพื่อศึกษาการให้ความหมายของกลยุทธ์การจัดการความสุขในการทำงานของธุรกิจโรงแรมในประเทศไทย และ (2) เพื่อศึกษารูปแบบการดำเนินกลยุทธ์การจัดการความสุขในการทำงานของธุรกิจโรงแรมในประเทศไทย เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพโดยวิธีปรากฏการณ์วิทยา เก็บรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้บริหารที่รับผิดชอบหลักด้านความสุขในการทำงานของพนักงาน โดยพิจารณาจากโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการองค์กรต้นแบบของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โรงแรมที่ได้รับรางวัลสุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย จากเอออน ฮิววิท รวมทั้งโรงแรมในประเทศไทยที่มีการดำเนินการเกี่ยวกับองค์กรแห่งความสุขอย่างเป็นรูปธรรม จำนวน 5 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แนวคำถามสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง และแบบบันทึกการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม
ผลการศึกษา พบว่า (1) ความหมายของกลยุทธ์การจัดการความสุขในการทำงาน หมายถึง “แนวทางหรือวิธีการที่มาจากปรัชญาและนโยบายหลักขององค์การ ที่มีการกระทำอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความสุขในการทำงานให้กับพนักงานในองค์การ โดยขั้นตอนที่สำคัญก่อนการกำหนดกลยุทธ์การจัดการความสุขในการทำงาน คือ การประเมินตนเองของโรงแรม ทั้งนี้ เพื่อให้องค์การสามารถกำหนดกลยุทธ์การจัดการความสุขในการทำงานได้อย่างเหมาะสมกับสภาพการณ์ขององค์การ” และ (2) รูปแบบการดำเนินกลยุทธ์การจัดการความสุขในการทำงานในธุรกิจโรงแรมของประเทศไทย ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเด็น ได้แก่ (2.1) องค์ประกอบของกลยุทธ์การจัดการความสุขในการทำงาน ประกอบด้วย ระบบการคัดเลือกพนักงาน ระบบการให้รางวัล การสร้างความก้าวหน้าในอาชีพ การจัดการค่าตอบแทนและสวัสดิการ การดูแลความเป็นอยู่และสุขภาพของพนักงาน ความยืดหยุ่นในการทำงาน และการจัดการความหลากหลายของบุคลากร (2.2) ลักษณะองค์การที่ส่งเสริมการดำเนินกลยุทธ์การจัดการความสุขในการทำงาน ได้แก่ โครงสร้างองค์การแบบมีชีวิต วัฒนธรรมองค์การแบบมีส่วนร่วม และภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงเชิงจริยธรรม และ (2.3) ผลลัพธ์ของการดำเนินกลยุทธ์การจัดการความสุขในการทำงาน ได้แก่ ประสิทธิผลด้านการจัดการทรัพยากรมนุษย์ ประกอบด้วย การเพิ่มขึ้นในการมีส่วนร่วมของพนักงาน ความทุ่มเทในการทำงาน การลดอัตราการลาออก และผลการปฏิบัติงานที่เหนือความคาดหมาย ซึ่งนำไปสู่ผลการดำเนินงานที่ดีของโรงแรม