การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างทฤษฎีฐานรากของการจัดการสมรรถนะการประกอบอาชีพเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการ โดยใช้การวิจัยเชิงคุณภาพเพื่อหาข้อสรุปเชิงทฤษฎีจากมุมมองของผู้เกี่ยวข้องกับคนพิการตามคู่มือมาตรฐานการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ, 2559) ประกอบด้วย 1) ตัวแทนคนพิการที่ได้รับการยอมรับ 2) ผู้ปกครองหรือตัวแทนสมาคมผู้ปกครองคนพิการ 3) ผู้ดูแลหรืออาสาสมัครด้านคนพิการ 4) เจ้าหน้าที่ภาครัฐด้านคนพิการ 5) เจ้าหน้าที่องค์กรอิสระด้านคนพิการ และ 6) นักวิชาการที่มีประสบการณ์หรือทำวิจัยด้านคนพิการ รวมจำนวน 30 คน (ประไพพิมพ์ สุธีวสินนนท์ และประสพชัย พสุนนท์, 2559) โดยใช้การเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง ควบคู่กับการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบบอกต่อ (ประสพชัย พสุนนท์ และคณะ, 2558) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ระดับลึก การสังเกต การจดบันทึก ควบคู่กับการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง (สัญญา เคณาภูมิ, 2558) และใช้การวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ 4 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นตอนการเปิดรหัส 2) ขั้นตอนการสร้างมโนทัศน์ 3) ขั้นตอนกลุ่มมโนทัศน์ และ 4) ขั้นตอนการสร้างทฤษฎี
ผลการวิจัยพบว่า 1) การจัดการสมรรถนะการประกอบอาชีพของคนพิการ ให้ความหมาย 3 บริบท คือ การสร้างโอกาส การจัดการกับสิ่งขวางกั้น และการบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน ประกอบด้วย 9 องค์ประกอบ คือ การสนับสนุนทางสังคม เทคโนโลยีและนวัตกรรม การศึกษาและการเรียนรู้ การมีส่วนร่วมทางสังคม สิ่งอำนวยความสะดวก การฟื้นฟูสมรรถภาพ การดำรงชีวิตอิสระ สิ่งสนับสนุนความสำเร็จ และการเสริมสร้างพลังอำนาจ และ 2) คุณภาพชีวิตของคนพิการ หมายถึง สภาวะที่คนพิการรับรู้ความสามารถในการดำรงชีวิต ประกอบอาชีพ และเข้าไปมีส่วนร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของตนซึ่งการรับรู้นั้นจะต้องสามารถตอบสนองกับความคาดหวัง ความต้องการ และการตัดสินใจด้วยตนเองของคนพิการ ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ คือ การดำรงชีวิตในสังคม การประกอบอาชีพ และการเป็นพลเมืองของสังคม ซึ่งผลการวิจัยจะเป็นแนวทางสำคัญในการกำหนดกรอบการจัดทำนโยบายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการในบริบทของประเทศไทยต่อไป